หน่วยที่ 4

จิตวิทยาการเรียนรู้

การเรียนรู้  เป็นกระบวนการที่มีความสำคัญในการดำรงชีวิตที่ช่วยพัฒนาให้มนุษย์แตกต่างไปจากสัตว์โลก
ความหมายของการเรียนรู้
นักจิตวิทยาหลายท่านให้ความหมายของการเรียนรู้ไว้ เช่น
                คิมเบิล  (   Kimble ,  1964   )  "การเรียนรู้   เป็นการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างถาวรในพฤติกรรม  อันเป็นผลมาจากการฝึกที่ได้รับการเสริมแรง"
                ฮิลการ์ด และ เบาเวอร์  (Hilgard& Bower, 1981)  "การเรียนรู้ เป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม  อันเป็นผลมาจากประสบการณ์และการฝึก   ทั้งนี้ไม่รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมที่เกิดจากการตอบสนองตามสัญชาตญาณ  ฤทธิ์ของยา หรือสารเคมี หรือปฏิกริยาสะท้อนตามธรรมชาติของมนุษย์  "
                คอนบาค  (  Cronbach)  "การเรียนรู้  เป็นการแสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลง อันเป็นผลเนื่องมาจากประสบการณ์ที่แต่ละบุคคลประสบมา "
                พจนานุกรมของเวบสเตอร์  (Webster 's  Third  New International Dictionary)"การเรียนรู้ คือ  กระบวนการเพิ่มพูนและปรุงแต่งระบบความรู้  ทักษะ นิสัย หรือการแสดงออกต่างๆ อันมีผลมาจากสิ่งกระตุ้นอินทรีย์โดยผ่านประสบการณ์ การปฏิบัติ หรือการฝึกฝน"
ประดินันท์อุปรมัย (๒๕๔๐, ชุดวิชาพื้นฐานการศึกษา(มนุษย์กับการเรียนรู้) : นนทบุรี, พิมพ์ครั้งที่ ๑๕,     หน้า ๑๒๑) “ การเรียนรู้คือการเปลี่ยนแปลงของบุคคลอันมีผลเนื่องมาจากการได้รับประสบการณ์  โดยการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นเหตุทำให้บุคคลเผชิญสถานการณ์เดิมแตกต่างไปจากเดิม   ประสบการณ์ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหมายถึงทั้งประสบการณ์ทางตรงและประสบการณ์ทางอ้อม
จุดมุ่งหมายของการเรียนรู้
                พฤติกรรมการเรียนรู้ตามจุดมุ่งหมายของนักการศึกษาซึ่งกำหนดโดย บลูม และคณะ  (Bloomand Others ) มุ่งพัฒนาผู้เรียนใน    ด้าน    ดังนี้
                ๑.  ด้านพุทธิพิสัย (Cognitive Domain)  คือ ผลของการเรียนรู้ที่เป็นความสามารถทางสมอง ครอบคลุมพฤติกรรมประเภท ความจำ ความเข้าใจ  การนำไปใช้  การวิเคราะห์  การสังเคราะห์และประเมินผล
                ๒.  ด้านเจตพิสัย (Affective Domain )  คือ ผลของการเรียนรู้ที่เปลี่ยนแปลงด้านความรู้สึก  ครอบคลุมพฤติกรรมประเภท ความรู้สึก ความสนใจ  ทัศนคติ การประเมินค่าและค่านิยม
                ๓.  ด้านทักษะพิสัย (Psychomotor Domain)  คือ ผลของการเรียนรู้ที่เป็นความสามารถด้านการปฏิบัติ ครอบคลุมพฤติกรรมประเภท การเคลื่อนไหว  การกระทำ  การปฏิบัติงาน การมีทักษะและความชำนาญ
องค์ประกอบสำคัญของการเรียนรู้
                ดอลลาร์ด และมิลเลอร์  (Dallard and Miller) เสนอว่าการเรียนรู้ มีองค์ประกอบสำคัญ ๔  ประการ คือ
                ๑.  แรงขับ (Drive) เป็นความต้องการที่เกิดขึ้นภายในตัวบุคคล    เป็นความพร้อมที่จะเรียนรู้ของบุคคลทั้งสมอง ระบบประสาทสัมผัสและกล้ามเนื้อ  แรงขับและความพร้อมเหล่านี้จะก่อให้เกิดปฏิกิริยา หรือพฤติกรรมที่จะชักนำไปสู่การเรียนรู้ต่อไป
                ๒.  สิ่งเร้า (Stimulus) เป็นสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ต่างๆ   ซึ่งเป็นตัวการที่ทำให้บุคคลมีปฏิกิริยา  หรือพฤติกรรมตอบสนองออกมา ในสภาพการเรียนการสอน สิ่งเร้าจะหมายถึงครู  กิจกรรมการสอน  และอุปกรณ์การสอนต่างๆ   ที่ครูนำมาใช้
                ๓.  การตอบสนอง (Response) เป็นปฏิกิริยา หรือพฤติกรรมต่างๆ ที่แสดงออกมาเมื่อบุคคลได้รับการกระตุ้นจากสิ่งเร้า ทั้งส่วนที่สังเกตเห็นได้และส่วนที่ไม่สามารถสังเกตเห็นได้    เช่น การเคลื่อนไหว ท่าทาง  คำพูด การคิด  การรับรู้  ความสนใจ และความรู้สึก  เป็นต้น
                ๔.  การเสริมแรง (Reinforcement) เป็นการให้สิ่งที่มีอิทธิพลต่อบุคคลอันมีผลในการเพิ่มพลังให้เกิดการเชื่อมโยง ระหว่างสิ่งเร้ากับการตอบสนองเพิ่มขึ้น การเสริมแรงมีทั้งทางบวกและทางลบ ซึ่งมีผลต่อการเรียนรู้ของบุคคลเป็นอันมาก
ธรรมชาติของการเรียนรู้
                การเรียนรู้มีลักษณะสำคัญดังต่อไปนี้
                ๑.  การเรียนรู้เป็นกระบวนการ  การเกิดการเรียนรู้ของบุคคลจะมีกระบวนการของการเรียนรู้จากการไม่รู้ไปสู่การเรียนรู้ ๕ ขั้นตอน คือ
                     ๑.๑  มีสิ่งเร้ามากระตุ้นบุคคล
                     ๑.๒  บุคคลสัมผัสสิ่งเร้าด้วยประสาททั้ง ๕
                     ๑.๓  บุคคลแปลความหมายหรือรับรู้สิ่งเร้า
                     ๑.๔  บุคคลมีปฏิกิริยาตอบสนองอย่างใดอย่างหนึ่งต่อสิ่งเร้าตามที่รับรู้
                     ๑.๕  บุคคลประเมินผลที่เกิดจากการตอบสนองต่อสิ่งเร้า


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น